หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความสงสัยในการปฏิรูปการศึกษา

   


  กระแสกดดันเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาดำเนินไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยความเห็นที่แตกต่าง หรือ การมองต่างกันในบางประเด็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเกิดความสงสัยว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ มีอะไรเป็นอุปสรรค  และหน่วยงานที่รับผิดชอบมีความจริงใจที่จะปฏิรูปหรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการซึ่งถูกมองว่า ไม่จริงใจในการปฏิรูปถึงขั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือขอถอดถอนและยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยข้อหาการทุจริตเชิงนโยบาย จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ. ศ. 2542  สร้างความสนใจให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และเกิดความสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาและทำไมจึงเกิดปัญหาทางความคิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (สปศ. )  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เสนอกฎหมายและแนวทางการปฏิรูปเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการ ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการจัดระบบการระดมทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา

        ก่อนที่จะอภิปรายในประเด็นที่มีความสงสัย ต้องจูนคลื่นให้ตรงกันก่อนว่า ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษา หัวใจของการปฏิรูปคืออะไร สาเหตุหลักของการปฏิรูปครั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการปฏิรูป ระบบบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่  9  มิถุนายน  2542  มี  2  ประเด็น คือ ปัญหาการบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจ ขาดเอกภาพในการบริหารขาดระบบประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นโยบายขาดความต่อเนื่อง และขาดความเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่น อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา  ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และศักยภาพการแข่งขันกับประชาคมโลก นอกจากนี้ยังมีเหตุผลของการจัดการศึกษาแปลกแยกจากสังคมศาสนาและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม คุณภาพการศึกษาตกต่ำไม่ทันโลก จึงนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ทุกคนเห็นตรงกันว่าหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคนไทยซึ่งจะสำเร็จต้องมีการยกระดับวิชาชีพครู จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา ระดมทรัพยากรพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นแก้ปัญหาอันเป็นสาเหตุหลัก และมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ  ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธหรือคัดค้านในประเด็นดังกล่าว สิ่งที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ มักจะมุ่งไปที่ประเด็นรองคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจะเสร็จทันหรือไม่ และทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงเสนอแก้ไข ทั้ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและร่างกฎหมายที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา นำเสนอรัฐบาล
        ได้มีการปลุกกระแสว่าใครที่ตามที่แตะต้องหรือเสนอแก้ไข  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  2542  ถือว่าเป็นผู้คัดค้านการปฏิรูป เสมือนหนึ่งว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติแก้ไขไม่ได้ ถ้ามองย้อนไปที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา  81  จะพบว่าสามารถปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้  และจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ     ชินวัตร )  ที่กล่าวว่า “ การทำงานเชิงรุกต้องเป้าหมายหรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นและคิดวิธีที่จะมุ่งไปสู่จุดหมายที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะไม่ยึดกฎหมายเป็นตัวตั้ง อะไรที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับก็สร้างกฎหมาย อะไรเป็นอุปสรรคหรือกฎหมายที่มีอยู่เป็นอุปสรรคต้องแก้กฎหมาย กฎหมายจะเป็นเครื่องมือแต่ไม่ใช่เป็นตัวนำ ”
        สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งคือ กลไกการปฏิรูปการศึกษาตามหมวด 5 การบริหารและการจัดการซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดนั้น มีองค์กรที่รับผิดชอบคือ สำนักงานปฏิรูปการศึกษาเป็นองค์การมหาชนเฉพาะกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอจัดโครงสร้างองค์กร เสนอจัดระบบครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเสนอการจัดระบบทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา เสนอแนะเกี่ยวกับการร่างกฎหมายและการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การเสนอตามหน้าที่ดังกล่าว สปศ.  ได้ดำเนินการครบถ้วนและจัดทำข้อเสนอส่งถึงรัฐบาลแล้วตั้งแต่วันที่  25  เมษายน  2544  กระบวนการถัดไปก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์  สามารถปฏิบัติได้ และส่งเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไป
        รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ การเริ่มต้นคิดบนพื้นฐานที่แตกต่างในหลายประการ เช่น ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ทุกคนเห็นว่าการศึกษามีปัญหาด้านคุณภาพจึงต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่ แต่ก็พ่วงประเด็นด้านศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเพิ่มเติมทั้ง ๆ ที่ยังไม่เป็นปัญหามากถึงขั้นปฏิรูป กลายเป็นเรื่องรองของการปฏิรูปการศึกษาและเป็นปัญหาในเวลาต่อมา การไม่ให้ความสำคัญของการอาชีวศึกษาและการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยในการจัดโครงสร้างการบริหารก็เกิดปัญหาอีกเนื่องจากรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ  ที่สำคัญกระบวนการเสนอกฎหมายของสำนักงานปฏิรูปการศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดของการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ (Legal Approach) มากกว่าการใช้ภารกิจเป็นตัวนำในการจัดโครงสร้าง (Structural Functional Approach)  และยึดมั่นว่ากฎหมายคือข้อยุติทั้งปวงของการปฏิรูปการศึกษาเพราะมีกรรมการที่เป็นนักกฎหมายชี้นำแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ทำเพื่อให้ครบรูปแบบไม่ได้นำผลที่ได้มาปรับปรุงร่างกฎหมายที่ทำไว้แล้ว และถ้าเป็นความคิดเห็นที่ต่างไปจากความคิดของผู้ร่างจะไม่ได้รับการพิจารณา ขาดระบบที่ให้ฝ่ายปฏิบัติมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากถูกมองว่า ถ้าผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติเข้าร่วมจะทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ กระบวนการจัดทำโครงสร้างจึงทำให้ฝ่ายปฏิบัติไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือผู้ร่างไม่รับฟังความคิดเห็น ผลที่ตามมาก็คือ การเสนอจัดโครงสร้างบริหารไม่สะท้อนภาพปัจจุบัน ฝ่ายปฏิบัติไม่เข้าใจและมองไม่เห็นการนำมาปรับโครงสร้างเดิมเข้าสู่โครงสร้างใหม่ บางหน่วยงานถูกลดบทบาท จึงเกิดความรู้สึกว่า บุคคลภายนอกมาทำลายบ้านของตัวเอง และบังคับให้พัฒนาตนเองก่อนได้รับใบประกอบวิชาชีพ การรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งของผู้ร่างกฎหมาย มักจะเป็นรูปแบบการชี้แจงมากกว่าการรับฟังและเลือกบางกลุ่มเข้ารับฟัง นอกจากนี้ยังเน้นไปที่ประเด็นที่ว่าครูจะได้ประโยชน์อะไร มองข้ามความรู้สึกของบริหารระดับสูงและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเกิดปัญหาความไม่เข้าใจและมีความเห็นแตกต่างทางความคิดมาโดยตลอด การเสนอจัดโครงสร้างครั้งนี้เข้าทำนองว่า ผู้ปฏิบัติหรือเจ้าบ้านไม่มีโอกาสได้เขียนหรือกำหนดแบบแปลนบ้าน ส่วนคนที่เขียนก็ไม่ได้ปฏิบัติหรือไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ประเด็นที่ว่าเด็กจะมีคุณภาพขึ้นมาได้อย่างไรจะถูกกล่าวถึงน้อยมาก ช่องว่างอย่างนี้ถูกมองข้ามจึงทำให้การดำเนินการปฏิรูปการศึกษามีปัญหา รัฐบาลในฐานะผู้รับการส่งต่อจากผู้ร่างกฎหมายต้องใช้เวลาหยุดคิดทบทวน และในที่สุดได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา
        ด้วยเหตุการณ์ เหตุผล และความคิดที่แตกต่างดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ถ้าต้องการข้อยุติที่ดีและสร้างสรรค์ ผู้ที่รับผิดชอบทุกฝ่ายควรนำมาเป็นโอกาสสร้างพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่ทุกคนยอมรับได้มากกว่าการทำลายล้างสร้างความขัดแย้งให้เกิดความรู้สึกสับสนของประชาชนทั่วไป ทุกฝ่ายควรร่วมกันเสนอแนวทางที่เป็น     ยุทธศาสตร์นำไปสู่ความสำเร็จอย่างสมานฉันท์ การพัฒนาประเทศยังต้องการองค์ความรู้ที่เกิดจากการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาคนให้มีการศึกษาดี มีคุณภาพ ถ้าคนในวงการศึกษาหรือผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา  ตลอดจนผู้บริหารการศึกษายังไม่รวมพลังประสานความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ประเทศชาติจะหวังพึ่งใคร ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ  อยากให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนบทบาทและร่วมมือกันเดินไปข้างหน้า ประชาชนและประเทศชาติกำลังรอความหวังจากท่านทั้งหลาย 
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 20 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น