หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปณิธานการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ





          ความพยายามปฏิรูปการศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และสังคมมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น ต่อมาเมื่อกระแสการปฏิรูปการเมืองมีความเข้มข้นขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2539-2540 ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ขณะนั้นกระแสผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จนสามารถผลักดันสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการกำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม โดยจัดให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  ในระยะต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาอบรมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
          การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นับเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาหลายด้านเพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนไทย  ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาที่สอดรับกันว่าจะปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปปฏิบัติ   กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหนึ่งและเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษา และได้ดำเนินการตามแนวการปฏิรูปการศึกษาในส่วนที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง
2. การปฏิรูปและการปรับเปลี่ยน




    
          การปฏิรูปเป็นคำที่นิยมใช้กันแพร่หลายในทุกวงการ และมีความเข้าใจคล้ายกันว่าเป็นการปรับปรุง  เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น  การปฏิรูปการศึกษาก็เช่นเดียวกันคือ เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น  ดีขึ้น  การทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงขี้น  ต้องมีการปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนทั้งปัจจัย  กระบวนการ หรือวิธีการที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของประชาชน  เช่น การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้  การพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา  การประกันคุณภาพการศึกษา  การระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา  การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  การปฏิรูประบบบริหารการศึกษา เป็นต้น  ซึ่งแต่ละเรื่องที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศีกษาแห่งชาติที่นำไปสู่การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนตามแนวทางที่กำหนด

3. ปณิธานกระทรวงศึกษาธิการ
          ด้วยภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น  ทุกคนมีความมุ่งมั่น  ทุ่มเทและมีความหวังต่อการปฏิรูปการศึกษา  ตามแนวทางที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้  รวมไปถึงความตื่นตัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆที่พยายามพัฒนาตนเอง  และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว  ซึ่งเป็นการรวมพลังที่จะปฏิรูปการศึกษาของคนกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับอย่างแท้จริง  การทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้านอย่างเต็มที่ การกำหนดนโยบาย ทศวรรษแห่งคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา การเร่งรัดการทดลองนำร่องบริหารจัดการระดับเขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัด 10 เขตพื้นที่การศึกษา การวางระบบปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา การเตรียมพร้อมจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนงานและการเตรียมจัดอัตรากำลัง การสร้างนิสัยรักการอ่าน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด แหล่งศิลปะและวัฒนธรรม การจัดตั้งวิทยาชุมชนเพื่อรองรับเยาวชนที่ขาดโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การมุ่งพัฒนาการศึกษาพิเศษและสนับสนุนเอกชนจัดการศึกษา
          สิ่งที่ยืนยันปณิธานและความมุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาประการหนึ่งก็คือ ตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นองค์คณะบุคคลหลักระดับนโยบายและเป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิ นักคิด นักการศึกษา ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และได้ประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดแผนงานหลัก 20 แผนงาน เพื่อการปฏิรูปและแต่ละแผนงานมีคณะอนุกรรมการรับผิดชอบได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานมาโดยตลอด  ในระดับปฏิบัติกระทรวงยังมีคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินงานโดยมีศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษาเป็นศูนย์ข้อมูล และประสานงานกลางกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ทำนโยบายไปสู่การปฏิบัติมีเครือข่ายการปฏิบัติงานที่เป็นคณะบุคคลในระดับกรมและระดับพื้นที่/จังหวัด ตลอดจนสถานศึกษา โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยง ผ่านสื่อเทคโนโลยีและสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะให้นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู องค์กรเอกชน ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้านและทุกระดับ
4. ความก้าวหน้าและพลังขับเคลื่อน
          นับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมากระทรวงศึกษาธิการได้ว่า ระดมสรรพกำลังทุกส่วนเพื่อทุ่มเทกับภารกิจการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน และมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ แม้ว่า ภารกิจบางส่วนโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายนอกหมวด  5 การบริหารและการจัดการศึกษา หมวด 7 ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และหมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา มีองค์กรอื่นรับผิดชอบและยังไม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดเตรียมข้อมูลและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้การดำเนินการบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ได้เตรียมการจัดโครงสร้างการบริหาร การจัดระบบการผลิตครูและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู
          ด้วยพลังของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีประมาณ 543,000 คน และงบประมาณที่รัฐบาลได้ทุ่มเทให้จำนวนปีละ     221,000 ล้านบาทหรือประมาณ 1 ใน 4   ของงบประมาณทั้งหมดรับผิดชอบสถานศึกษาในภาค 37,000 กว่าแห่ง นักเรียนจำนวน  15.3  ล้านคน จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มุ่งจัดทรัพยากรมาใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ความก้าวหน้าของการปฏิรูปการศึกษาแต่ละด้านที่เป็นส่วนรับผิดชอบของกระทรวงที่สำคัญได้แก่
         1) การปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ได้ยึดหลักความสำคัญคือ ผู้เรียนสำคัญที่สุด การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการศึกษาตลอดชีวิต ดำเนินการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ในรูปแบบหลากหลาย เช่นพัฒนาครูและสถานศึกษาแกนนำปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายการปฏิรูปการเรียนรู้ การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดแหล่งเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย การประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544
         2) การประกันคุณภาพการศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และเสนอร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
         3) การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูได้จัดทำแผนปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งด้านการผลิต การพัฒนา การควบคุมการประกอบวิชาชีพและระบบบริหารงานบุคคล และจัดเตรียมบุคลากรตามโครงสร้างกระทรวงใหม่
         4) ปฏิรูประบบงบประมาณ จากระบบงบประมาณแบบแผนงาน ( Planning Programming Budgeting : PPB ) เป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ( Performance Based Budgeting : PBB ) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป
        5) การปฏิรูปสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา มีเป้าหมายให้โรงเรียนมัธยมศึกษามีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกโรงเรียนภายใน  2  ปี และโรงเรียนประถมศึกษา ภายใน  4 ปี จัดการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าสู่สถานศึกษาทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณทล รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีเครือข่ายย่อยในสถานศึกษาระดับจังหวัด และจัดฝึกอบรมครูด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
        6) การปรับปรุงกฎหมายและจัดเตรียมโครงสร้างการบริหารของกระทรวงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มึความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และแนวทางการบริหารงานตามโครงสร้างใหม่ การนำร่องปฏิรูปการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อดำเนิน  4  ภารกิจ ได้แก่ การบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารงานวิชาการ และการบริหารงบประมาณ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงกฎหมายและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อเสนอความเห็นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้พิจารณา

          จะเห็นได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและกำลังดำเนินการทั้งนี้ทุกคนมีส่วนผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดและตามเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ความเห็นที่หลากหลายและแตกต่างได้นำไปสู่ข้อสรุปที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาโดยรวม ยังไม่มีส่วนใดที่บ่งบอกว่า คนกระทรวงศึกษาธิการขัดขวางการปฏิรูปหรือคิดถอยหลังเข้าคลอง ทุกคนน้อมรับข้อเสนอแนะและแนวทางที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญมีความใจกว้างที่จะเปิดรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และคนกระทรวงศึกษาธิการก็หวังเช่นเดียวกันว่า นักวิชาการ นักการศึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่มารวมพลังสร้างสรรค์ปฏิรูปการศึกษายินดีเปิดใจกว้างและเห็นความสำคัญของความคิดของบุคคลระดับปฏิบัติในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 20 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218
ติดต่อผู้ดูแลระบบ :
website@emisc.moe.go.th






1.  ความจริงพื้นฐาน

ความสงสัยในการปฏิรูปการศึกษา

   


  กระแสกดดันเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาดำเนินไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยความเห็นที่แตกต่าง หรือ การมองต่างกันในบางประเด็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเกิดความสงสัยว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ มีอะไรเป็นอุปสรรค  และหน่วยงานที่รับผิดชอบมีความจริงใจที่จะปฏิรูปหรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการซึ่งถูกมองว่า ไม่จริงใจในการปฏิรูปถึงขั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือขอถอดถอนและยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยข้อหาการทุจริตเชิงนโยบาย จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ. ศ. 2542  สร้างความสนใจให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และเกิดความสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาและทำไมจึงเกิดปัญหาทางความคิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (สปศ. )  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เสนอกฎหมายและแนวทางการปฏิรูปเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการ ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการจัดระบบการระดมทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา

        ก่อนที่จะอภิปรายในประเด็นที่มีความสงสัย ต้องจูนคลื่นให้ตรงกันก่อนว่า ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษา หัวใจของการปฏิรูปคืออะไร สาเหตุหลักของการปฏิรูปครั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการปฏิรูป ระบบบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่  9  มิถุนายน  2542  มี  2  ประเด็น คือ ปัญหาการบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจ ขาดเอกภาพในการบริหารขาดระบบประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นโยบายขาดความต่อเนื่อง และขาดความเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่น อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา  ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และศักยภาพการแข่งขันกับประชาคมโลก นอกจากนี้ยังมีเหตุผลของการจัดการศึกษาแปลกแยกจากสังคมศาสนาและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม คุณภาพการศึกษาตกต่ำไม่ทันโลก จึงนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ทุกคนเห็นตรงกันว่าหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคนไทยซึ่งจะสำเร็จต้องมีการยกระดับวิชาชีพครู จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา ระดมทรัพยากรพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นแก้ปัญหาอันเป็นสาเหตุหลัก และมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ  ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธหรือคัดค้านในประเด็นดังกล่าว สิ่งที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ มักจะมุ่งไปที่ประเด็นรองคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจะเสร็จทันหรือไม่ และทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงเสนอแก้ไข ทั้ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและร่างกฎหมายที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา นำเสนอรัฐบาล
        ได้มีการปลุกกระแสว่าใครที่ตามที่แตะต้องหรือเสนอแก้ไข  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  2542  ถือว่าเป็นผู้คัดค้านการปฏิรูป เสมือนหนึ่งว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติแก้ไขไม่ได้ ถ้ามองย้อนไปที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา  81  จะพบว่าสามารถปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้  และจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ     ชินวัตร )  ที่กล่าวว่า “ การทำงานเชิงรุกต้องเป้าหมายหรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นและคิดวิธีที่จะมุ่งไปสู่จุดหมายที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะไม่ยึดกฎหมายเป็นตัวตั้ง อะไรที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับก็สร้างกฎหมาย อะไรเป็นอุปสรรคหรือกฎหมายที่มีอยู่เป็นอุปสรรคต้องแก้กฎหมาย กฎหมายจะเป็นเครื่องมือแต่ไม่ใช่เป็นตัวนำ ”
        สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งคือ กลไกการปฏิรูปการศึกษาตามหมวด 5 การบริหารและการจัดการซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดนั้น มีองค์กรที่รับผิดชอบคือ สำนักงานปฏิรูปการศึกษาเป็นองค์การมหาชนเฉพาะกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอจัดโครงสร้างองค์กร เสนอจัดระบบครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเสนอการจัดระบบทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา เสนอแนะเกี่ยวกับการร่างกฎหมายและการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การเสนอตามหน้าที่ดังกล่าว สปศ.  ได้ดำเนินการครบถ้วนและจัดทำข้อเสนอส่งถึงรัฐบาลแล้วตั้งแต่วันที่  25  เมษายน  2544  กระบวนการถัดไปก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์  สามารถปฏิบัติได้ และส่งเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไป
        รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ การเริ่มต้นคิดบนพื้นฐานที่แตกต่างในหลายประการ เช่น ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ทุกคนเห็นว่าการศึกษามีปัญหาด้านคุณภาพจึงต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่ แต่ก็พ่วงประเด็นด้านศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเพิ่มเติมทั้ง ๆ ที่ยังไม่เป็นปัญหามากถึงขั้นปฏิรูป กลายเป็นเรื่องรองของการปฏิรูปการศึกษาและเป็นปัญหาในเวลาต่อมา การไม่ให้ความสำคัญของการอาชีวศึกษาและการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยในการจัดโครงสร้างการบริหารก็เกิดปัญหาอีกเนื่องจากรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ  ที่สำคัญกระบวนการเสนอกฎหมายของสำนักงานปฏิรูปการศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดของการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ (Legal Approach) มากกว่าการใช้ภารกิจเป็นตัวนำในการจัดโครงสร้าง (Structural Functional Approach)  และยึดมั่นว่ากฎหมายคือข้อยุติทั้งปวงของการปฏิรูปการศึกษาเพราะมีกรรมการที่เป็นนักกฎหมายชี้นำแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ทำเพื่อให้ครบรูปแบบไม่ได้นำผลที่ได้มาปรับปรุงร่างกฎหมายที่ทำไว้แล้ว และถ้าเป็นความคิดเห็นที่ต่างไปจากความคิดของผู้ร่างจะไม่ได้รับการพิจารณา ขาดระบบที่ให้ฝ่ายปฏิบัติมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากถูกมองว่า ถ้าผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติเข้าร่วมจะทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ กระบวนการจัดทำโครงสร้างจึงทำให้ฝ่ายปฏิบัติไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือผู้ร่างไม่รับฟังความคิดเห็น ผลที่ตามมาก็คือ การเสนอจัดโครงสร้างบริหารไม่สะท้อนภาพปัจจุบัน ฝ่ายปฏิบัติไม่เข้าใจและมองไม่เห็นการนำมาปรับโครงสร้างเดิมเข้าสู่โครงสร้างใหม่ บางหน่วยงานถูกลดบทบาท จึงเกิดความรู้สึกว่า บุคคลภายนอกมาทำลายบ้านของตัวเอง และบังคับให้พัฒนาตนเองก่อนได้รับใบประกอบวิชาชีพ การรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งของผู้ร่างกฎหมาย มักจะเป็นรูปแบบการชี้แจงมากกว่าการรับฟังและเลือกบางกลุ่มเข้ารับฟัง นอกจากนี้ยังเน้นไปที่ประเด็นที่ว่าครูจะได้ประโยชน์อะไร มองข้ามความรู้สึกของบริหารระดับสูงและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเกิดปัญหาความไม่เข้าใจและมีความเห็นแตกต่างทางความคิดมาโดยตลอด การเสนอจัดโครงสร้างครั้งนี้เข้าทำนองว่า ผู้ปฏิบัติหรือเจ้าบ้านไม่มีโอกาสได้เขียนหรือกำหนดแบบแปลนบ้าน ส่วนคนที่เขียนก็ไม่ได้ปฏิบัติหรือไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ประเด็นที่ว่าเด็กจะมีคุณภาพขึ้นมาได้อย่างไรจะถูกกล่าวถึงน้อยมาก ช่องว่างอย่างนี้ถูกมองข้ามจึงทำให้การดำเนินการปฏิรูปการศึกษามีปัญหา รัฐบาลในฐานะผู้รับการส่งต่อจากผู้ร่างกฎหมายต้องใช้เวลาหยุดคิดทบทวน และในที่สุดได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา
        ด้วยเหตุการณ์ เหตุผล และความคิดที่แตกต่างดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ถ้าต้องการข้อยุติที่ดีและสร้างสรรค์ ผู้ที่รับผิดชอบทุกฝ่ายควรนำมาเป็นโอกาสสร้างพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่ทุกคนยอมรับได้มากกว่าการทำลายล้างสร้างความขัดแย้งให้เกิดความรู้สึกสับสนของประชาชนทั่วไป ทุกฝ่ายควรร่วมกันเสนอแนวทางที่เป็น     ยุทธศาสตร์นำไปสู่ความสำเร็จอย่างสมานฉันท์ การพัฒนาประเทศยังต้องการองค์ความรู้ที่เกิดจากการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาคนให้มีการศึกษาดี มีคุณภาพ ถ้าคนในวงการศึกษาหรือผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา  ตลอดจนผู้บริหารการศึกษายังไม่รวมพลังประสานความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ประเทศชาติจะหวังพึ่งใคร ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ  อยากให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนบทบาทและร่วมมือกันเดินไปข้างหน้า ประชาชนและประเทศชาติกำลังรอความหวังจากท่านทั้งหลาย 
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 20 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218   

กระแสปฏิรูปทางการศึกษา



           ถ้าจะกล่าวถึงคำว่า “ กระแส ” ในอดีต มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของธรรมชาติ เช่น กระแสลม กระแสน้ำ กระแสอากาศ เป็นต้น ในพจนานุกรม ได้อธิบายว่า กระแสคือน้ำหรือลม ที่ไหลหรือพัดเรื่อยเป็นแนวเป็นทางไปไม่ขาดสาย ดังนั้น อะไรก็ตามที่เคลื่อนที่ไปไม่หยุดนิ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นก็มักจะเรียกว่า กระแส ในปัจจุบันสังคมทั่วไปมีความคุ้นเคยกับคำว่ากระแสมนุษย์สร้างขึ้น  ถ้าต้องการให้เรื่องใดได้รับความสนใจก็จะมีการสร้างกระแส ถ้าหากการสร้างกระแสนั้นมุ่งประโยชน์ส่วนรวม หรือมุ่งพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การรวมพลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ แต่ถ้าการสร้างกระแสเพื่อกลบเกลื่อนความจริง หรือมุ่งประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือ ทำลายล้างสิ่งที่มีอยู่ ก็จะนำไปสู่ความสับสนและการเสื่อมถอย กระแสที่มักจะถูกสร้างขึ้นได้แก่ กระแสการเมือง กระแสวัฒนธรรม กระแสต่อต้านโครงการต่างๆ เป็นต้น ในยุคโลกาภิวัฒน์ ก็เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา หรือเรียกสั้นๆ ว่า กระแสปฏิรูปการศึกษา

          กระแสปฏิรูปการศึกษา เกิดจากการผลักดัน จากสถานการณ์ต่าง ๆ และจากแหล่งต่าง ๆ ของสังคม แล้วค่อย ๆ ก่อตัวจนมีพลังถึงขั้นเกิดกระแสปฏิรูปการศึกษาเป็นระยะ ๆ เมื่อมีแรงหนุนจากกระแสอื่น ๆ เช่น กระแสโลกาภิวัฒน์  กระแสปฏิรูปการเมือง ก็จะมีพลังของกระแสมากขึ้น และในช่วงระยะ 2-5 ปี ที่ผ่านมากระแสปฏิรูปการศึกษาได้ไหลหรือเคลื่อนเข้าไปในทุกวงการ  เนื่องจากได้ปลุกกระแสการปฏิรูปการศึกษาควบคู่กับกระแสปฏิรูปการเมืองและทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองนำไปสู่การออกกฎหมาย และรัฐบาลนำมากำหนดเป็นวาระแห่งชาติ นั่นก็หมายความว่า ประชาชนทุกคน จะต้องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยใช้ความรู้เป็นฐาน และนำสู่เป้าหมายสูงสุดของประเทศ คือ การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นคนวงการศึกษาหรือที่สำคัญคือคนกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตระหนักถึงคุณค่าของกระแสปฏิรูปการศึกษา และจะหลีกเลี่ยงไม่รับรู้หรือไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาคงไม่ได้ วัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นตัวถ่วงความเจริญ เป็นคนตกยุคและไม่ให้คนทั่วไปมองว่าคนวงการศึกษาไม่พัฒนา กลายเป็นครูที่รู้ไม่เท่าทันเด็ก เพราะไม่พัฒนาตนเอง บางคนคิดว่าเมื่อยี่สิบปีก่อนไม่มีใครเก่งเกิน ดีเกิน เคยทำหรือสอนอย่างไรปัจจุบันก็ทำอย่างนั้นและยังคิดว่าไม่มีใครเก่งเท่าตนเอง และยังปิดกั้นตัวเองไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลง ใครคิดต่างก็กลายเป็นศัตรูทางความคิด และกีดขวางการคิด ไม่รับฟังความคิดคนอื่น กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาปฏิรูปการศึกษา  
          ในกระแสปฏิรูปการศึกษาปัจจุบันมีหลายประเด็นที่นำไปสู่การสร้างกระแสสนับสนุนและกระแสคัดค้าน เช่น การสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษา บางประเด็นมีเหตุมีผลของการเกิดกระแส เนื่องจากประชาชนทั่วไปเข้าใจและมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่บางประเด็นก็สร้างกระแสเพื่อมุ่งผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และนำไปสู่การชุมนุมคัดค้านหรือสนับสนุนบุคคลที่เกี่ยวข้อง บางครั้งก็เป็นที่น่าเสียดาย(น่าละอาย)ที่คนในวงการศึกษาไม่ได้นำกระบวนการทางปัญญามาค้นหาทางเดินที่สร้างสรรค์  แต่ใช้กระบวนการแบบการเมืองมุ่งทำลายล้างบุคคลหรือองค์กรที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดผลประโยชน์ขององค์กรตนเองและที่น่าเสียดายมากกว่านั้นก็คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้นำมาสร้างกระแส หรือ ปลุกกระแสไม่ขึ้น  เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ  คนวงการศึกษา เข้าใจแต่มองไม่เห็นประโยชน์ที่ตนจะได้รับ และมีความรู้สึกว่าเหนื่อยมากขึ้น มีภาระมากขึ้นจึงไม่สนใจ
          เมื่อเกิดกระแสปฏิรูปการศึกษาที่มีพลังขับเคลื่อนจากทุกส่วนของสังคมน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำการศึกษามาเป็นเครื่องมือหรือเป็นฐานในการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน สิ่งแรกที่ควรต้องทำมากที่สุด คือ ทำให้คนที่จะมาทำหน้าที่ให้การศึกษาหรือพัฒนาคนอื่นที่เรียกว่า นักการศึกษาอาจเป็นครูหรือคนสอนครู ผู้บริหารทั้งระดับสูงและระดับไม่สูง นักวิชาการทั้งอาวุโสและไม่อาวุโส นักวิชาการทั้งฝ่ายด่าและฝ่ายทำ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้น บางคนอาจถึงขั้นล้างสมองใหม่ เพื่อให้มีจิตสำนึกสาธารณะ มีจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพมากขึ้น   เป็นที่พึ่งของเด็กมากกว่าใช้เด็กเป็นที่พึ่ง สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสังคม  ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษา เสมือนเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบ มากกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของระบบ(ปัจจัยนำเข้า)เพียงอย่างเดียว   หมายความว่าจะต้องมีคนทางการศึกษาส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มหัวกะทิ  มาทำหน้าที่ควบคุมและขับเคลื่อนระบบการศึกษา  กลุ่มหัวกะทิที่ว่านี้ต้องเป็นผู้มีกรอบของความรู้ดีมีคุณธรรม (ไม่ใช่คนเก่งแต่โกง หรือซื่อสัตย์แต่ทำอะไรไม่เป็น)  มีลักษณะเป็นนักประสานความคิดและมีบารมีพอที่จะกระตุ้นสังคมให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา  กลุ่มหัวกะทิดังกล่าวอาจมาจากหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นชาวนา พ่อค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้บริหาร สื่อมวลชน  ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์สูงและเข้าใจปัญหาการศึกษาเป็นอย่างดี  ที่สำคัญคือมีประวัติการทำงานที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ ไม่โกงภาษี  คอรัปชั่น หรือสร้างความร่ำรวยจากความเดือดร้อนของผู้อื่น  ถ้าการปฏิรูปการศึกษาได้กลุ่มหัวกะทิที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาช่วยดูแล และประคับประคองกระบวนการปฏิรูปทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เชื่อได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะก้าวสู่ความสำเร็จได้  ซึ่งขณะนี้ก็มีนักการศึกษาและผู้บริหารการศึกษาหลายท่านคิดแนวทางนี้  โดยเสนอให้มีองค์กรในรูปแบบของสภาปฏิรูปการศึกษา ต้องคอยติดตามว่าจะได้กลุ่มคนหัวกะทิแท้มาทำหน้าที่หรือไม่  ขอบันทึกความคิดของผู้เขียนเพื่อจะตีกันคนที่หัวกะทิไม่แท้(ไม่เก่งจริง)ว่า  อย่ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเลย  เปิดโอกาสคนเก่งและเป็นหัวกะทิแท้มาคิดและทำบ้าง  และขอเชิญชวนประชาชนที่มีส่วนได้เสียกับผลของการจัดการศึกษามาสร้างกระแสเพื่อกระตุ้นให้คนที่เก่งและเสียสละเพื่อส่วนรวมมาช่วยปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปและช่วยขัดขวางคนที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์หรือนักวิชาการฝ่ายด่า  พูดไม่สร้างสรรค์ให้หลุดพ้นจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาทุกรูปแบบ
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 25 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

ต้นแบบแห่งการเรียนรู้

จะเห็นว่าในปัจจุบันเราได้ยินคำว่า “ต้นแบบ” ในวงการศึกษามากมาย ที่ได้ยินบ่อยมาก คือ “ครูต้นแบบ” ต่อมาก็มี โรงเรียนต้นแบบ ศึกษานิเทศก์ต้นแบบ และ ต่อ ๆ ไปก็จะมี ผู้บริหารต้นแบบ นักเรียนต้นแบบ ผู้ปกครองต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ ภารโรงต้นแบบ ฯลฯ
            มีใครเคยสงสัยไหมว่า “ต้นแบบ” คืออะไร ทำไมต้องมีครูต้นแบบ เกิดประโยชน์อะไรถึงจะต้องคัดเลือกกันด้วยกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน ประเมินแล้วประเมินเล่า เสียงบประมาณมากมาย มีหลายหน่วยงานทำเรื่องเดียวกัน จนกลายเป็นว่า ต้นแบบของใครจะดีกว่า ? แล้วก็ได้ต้นแบบมาไม่ถึง 5% ของครูทั้งหมด มีการยกย่องเชิดชู เผยแพร่ ออกข่าววิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ แล้วคนที่ไม่ได้เป็นต้นแบบ จะได้อะไร รู้สึกรู้สาอะไรกับ “ต้นแบบ”
            เป็นโอกาสดีของผู้เขียนได้ไปร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า กับรองศาสตราจารย์ บุญนำ ทานสัมฤทธิ์ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 101 ปี ณ อาคาร 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 มีวิทยากรที่ทรงคุณงามความดี ความรู้ ภูมิปัญญาชั้นนำของประเทศหลายท่าน และมีท่านหนึ่งได้พูดเรื่อง “ต้นแบบ” ว่า พระมหากษัตริย์ของเรามี “ต้นแบบ” ที่ทรงคุณมหาศาลที่หล่อหลอมพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สถิตย์ในดวงใจของปวงชนชาวไทย นั่นคือ  “สมเด็จย่า” แม้ว่าสมเด็จย่า จะจากพวกเราไป แต่พระองค์ฝากสิ่งที่สำคัญยิ่งไว้ให้ชาวโลกแล้ว วิทยากรที่กล่าวถึงคือ พระเทพโสภณ (ประยูร ธมมจิตโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
            พระคุณเจ้าได้สรุปความสำคัญของคำว่า “ต้นแบบ” ว่ามี 2 นัย
            นัยแรกคือต้นแบบในฐานะเป็นแม่แบบ เพื่อให้ผู้ดูแบบได้เอาอย่าง ศึกษาตามพฤติกรรมต้นแบบ แล้วทำตามแบบ เลียนแบบ ต่อมาก็อาจ ประยุกต์แบบ
            นัยที่สองคือ ต้นแบบในฐานะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นกำลังใจแก่ผู้ดูแล กระตุ้นให้ผู้ดูแบบสร้างสรรสิ่งดีงาม ต้นแบบตามนัยนี้อาจไม่ต้องมีการถ่ายทอดจากต้นแบบสู่ผู้ดูแบบ    ไม่ต้องสอนกันตรง ๆ เพียงแค่ผู้ดูแบบ....ได้เห็น... ได้รับฟังต่อ ๆ กันมาได้รับรู้ก็เกิดความปลื้มปีติ ศรัทธาเชื่อมั่น เป็นขวัญกำลังใจ แม้ไม่รู้จัก แม้เพียงแค่มอง ผู้ดูแบบก็ได้อานิสงส์มากมาย แค่อยู่ให้เห็นก็เป็นแรงบันดาลใจมหาศาล”
            พระคุณเจ้ายังกล่าวถึงการศึกษาด้วยว่า การศึกษาถ้าไม่มีแบบอย่างที่ดีเป็นไปไม่ได้ การศึกษาเป็นระบบกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ การมีต้นแบบที่ดีย่อมเป็นกำลังใจ ครูควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดีชี้นำทางสว่างแก่ศิษย์ ต้นแบบแห่งการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ ต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็น หากครูเป็นต้นแบบที่ดี เป็นกัลยาณมิตรของศิษย์และเพื่อนครู ก็ย่อมจะเกิดผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เกิดครูดี ศิษย์ดีต่อเนื่องขยายวงต่อ ๆ กันไป ผู้ที่มีวิญญาณแห่งต้นแบบการเรียนรู้ ย่อมจะไปเหน็ดเหนื่อยในการถ่ายทอด
            จุดเริ่มต้นของการเกิดแรงบันดาลใจในชีวิตผู้ดูแบบ คือการ ได้รู้ ได้ดู ได้เห็นต้นแบบ เกิดศรัทธาต่อต้นแบบ เกิดแรงบันดาลใจให้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เลียนแบบของต้นแบบ หากเราเผยแพร่ตัวแบบที่ไม่เหมาะสมต้นแบบชองการกระทำในอบายมุข ต้นแบบของการฉ้อราษฎร์ ต้นแบบของการหยาบคายในกิริยาและวาจา ต้นแบบของการประจบสอพลอ ฯลฯ สังคมจะดูต้นแบบที่น่าชื่นใจเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างคุณภาพดีแก่เยาวชน แก่ประเทศชาติจากที่ไหน
            จริงอยู่ดังที่ขงจื้อกล่าวไว้ “คนดี คนเลว เป็นครูได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเห็นคนดี ก็เลียนแบบ เห็นคนเลวก็เลียนแบบ” แต่อยากถามว่าผู้ที่จะแยกแยะดี / เลว ได้ชัดเจนต้องมีวุฒิภาวะเพียงใด เยาวชนของเราบางคนยังมีวุฒิภาวะไม่ถึงพร้อม โดยเฉพาะถ้าเห็นตัวแบบนั้นเป็นครู เป็นพ่อ – แม่ เขายิ่งอาจสับสนว่าเขาควรเลียนแบบอย่างที่เห็น ใช่หรือไม่
            พวกเราชาวครูทั้งหลาย คงทราบแล้วว่า ครูต้นแบบ โรงเรียนต้นแบบ ศึกษานิเทศก์ก็ต้นแบบ และต้นแบบอีกสารพัดที่กำลังจะตามมา ทรงคุณค่าของการเป็นแบบแก่ครู และสังคมเพียงใด
            ต้นแบบต้องทำงานหนักและเหนื่อยทั้งเพื่อคงรักษาการเป็นต้นแบบ อีกทั้งถ่ายทอด ขยายเครือข่ายแก่ผู้ดูแบบ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ท่านเหล่านั้นคงไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการสอนการเผยแพร่เพราะ.......ท่านมีวิญญาณแห่งต้นแบบ พวกเรามาร่วมเป็นกำลังใจให้ต้นแบบกันเถอะค่ะ ไม่ว่าท่านจะเป็นต้นแบบจากองค์กรไหน ท่านก็เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้พบเห็นได้เสมอ ทั้งที่ท่านรู้ตัวและไม่รู้ตัว ท่านได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่นัก
            สำหรับบางท่าน.......แม้ไม่มีองค์กรใดมารับรองว่าท่านเป็นต้นแบบ แม้ท่านส่งผลงานเข้ารับเลือกเป็นต้นแบบแล้ว......ท่าน ไม่ได้รับเลือก   แต่ท่านอาจเป็นแรงบันดาลใจ
             เป็นต้นแบบของดวงตาคู่น้อย ๆ ที่จับจ้องดูทุกกิริยาของท่าน และ
            ท่านเป็นต้นแบบตั้งแต่มีเสียงเรียกท่านว่า “คุณครู”

อ้างอิงโดย ดร.บรรเจอดพร   รัตนพันธุ์
คณะทำงาน รมช.ศธ.

ข่าวด่วน

ข่าวด่วน...แผ่นดินไหวที่เชียงราย

ข่าวด่วน...แผ่นดินไหวที่เชียงราย

        

  ค่ำวันนี้(๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔) เวลาประมาณเกือบ 3 ทุ่ม ขณะที่เข้าห้องน้ำกำลังจะอาบน้ำ ปรากฏว่า บ้านสั่นไปหมด ทั้งๆที่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว จนต้องวิ่งออกมาดูที่หน้าบ้าน เห็นเพื่อนบ้าน ออกมายืนที่หน้าบ้าน และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น

          เกิดอะไรขึ้นหรือว่าเกิด แผ่นดินไหว เพดาน-หลังคา ส่งเสียงลั่นครวญคราง คิดว่ามันจะถล่มลงมาหรือเปล่า กดโทรศัพท์ ก็ไม่มีสัญญาณ อินเตอร์เน็ตก็ใช้การไม่ได้

          ตอนนี้สงบแล้ว....กำลังรอดูข่าวว่ามีอะไรเสียหายหรือเปล่า ต้องมีแน่ๆ เพราะไหวแรงเหลือเกิน!!!
          หลังจากเหตุการณ์สงบพยายามกดรีโมท เพื่อหาดูข่าวช่องไหนจะออกข่าวแผ่นดินไหวบ้างหรือเปล่า และแล้ว ช่อง9ก็ออก ข่าวด่วน ว่า “เมื่อเวลาประมาณ 20.55 น. ของวันที่ 24 มีนาคม เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 ริคเตอร์ เป็นเวลา 1 นาที โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจากเชียงราย111 กิโลเมตร ห่างจากแม่สาย 56 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทิอน 10 วินาที รับรู้ได้ถึงอำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเมืองเชียงราย โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย ไฟฟ้าดับ สัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง และระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว ฝาบ้านของบ้านพักชั้นเดียวของนางหงส์ เวียงคำ ชาวบ้านอ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้พังถล่มลงมาทับร่างนางหงส์จนเสียชีวิต

                         ที่มา ขอบคุณภาพจากhttp://www.bangkokbiznews.com
หมวดหมู่บันทึก: เรื่องทั่วไป
สัญญาอนุญาต: ซีซี: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน Cc-by-nc-sa

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

สุดยอดถนน


สุดยอดถนน

โลกใบเล็ก

บ้านหลังน้อยใต้สมุทร

สุดยอดเกาะ

สุดยอดเกาะ

เกาะที่ประเทศบาร์เรน

รวมพลผู้ควบคุมงานที่ 3 จากซ้ายผมเองคับ

โลกส่วนตัวอีกใบ

โลกส่วนตัวกลางป่าใหญ่

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ

การเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ



ปัจจุบันนักการศึกษาทั่วโลกเรียกร้องให้จัดการศึกษาด้วยการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือที่ไทย  เราใช้คำว่าการจัดการเรียนการสอนที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด   จากข้อมูลการปฏิบัติของครูอาจารย์ในบ้านเราพบความลักลั่นเป็นปัญหาพอควร  จากความเข้าใจผิดเข้าใจไม่ครบถ้วนและเข้าใจไม่ตรงกันจนมีผู้ยกเป็นประเด็นว่า  รูปแบบการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญน่าจะเป็นการทำลายคุณภาพของการศึกษา
          ตัวอย่างของความสับสนจนทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนเองก็สงสัยในความดีงามของการเรียนการสอนแบบนี้  ครูบางคนอ้างถึงการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจึงปล่อยให้ผู้เรียนเรียนตามลำพังจนเกือบจะเรียกว่าตามยถากรรม  กิจกรรมหนักไปทางการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือและสื่อต่าง ๆ ตามความสนใจจนบางครั้งคล้ายกับไร้ทิศทาง  ไร้มาตรฐาน  นักเรียนเองพอใจกับการได้ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง  สนุก  เพลิดเพลิน  ได้เรียนรู้หลายด้านนอกจากได้ความรู้  แต่นักเรียนก็เรียกร้องอยากให้ครูช่วยให้คำแนะนำในสิ่งที่ควรรู้ควรเก่งตามมาตรฐานที่ดีงาม  อยากให้ครูช่วยแนะนำในสิ่งที่ควรปรับปรุงในผลการทำกิจกรรมเพื่อทวีความรู้ความสามารถ  รวมถึงช่วยแนะแนวทิศทางที่นักเรียนแต่ละคนควรขวนขวายพยายามเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพื้นฐานความถนัดความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละคน
          อาจารย์ดำรง  สุวรรณกาญจน์  ครูแห่งชาติจากโรงเรียนยะหาศิรยานุกูล  ยะลา ให้ความหมายของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดี  ท่านกล่าวว่า เดิมเรามุ่งสอนเด็กโดยการเน้นการท่องจำตามตำรา เด็กจึงไม่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง  มองข้ามความสามารถของเด็กไป  การเรียนการสอนแนวใหม่นี้ส่งผลให้เด็กเรียนรู้จากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น  การจัดการเรียนการสอนต้องทำให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็กแต่ละคน  อาจารย์ดำรงสอนวิทยาศาสตร์โดยนำเอาตัวอย่างของจริงที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันมาอิงกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ในตำราเรียน  แล้วให้เขา ออกแบบการทดลองและปฏิบัติจริง  ในการสอนจะเน้นให้เด็กคิดเป็น  ทำเป็น  ใช้จินตนาการของตนให้มาก  อาจารย์ดำรงเชื่อว่าความสามารถของเด็กไทยไม่ได้แพ้เด็กต่างชาติเลย เพียงแต่เราสอนเด็กโดยเน้นทฤษฎีมากเกินไป  ทำให้นักเรียนขาดทักษะในการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
          ผมคิดว่าถ้าครูจะจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญให้ได้ผลสูงสุด  ครูคงจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อ  ความคิดและวิธีปฏิบัติบางประการ จากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่
          ประการที่ 1  :  ความคิดเดิม  ครูมองความสำเร็จของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ   มุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง  ของเด็ก
          ความคิดใหม่  ความสำเร็จของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้เรียนถ้า  ผู้เรียนรายบุคคลทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามมาตรฐานความมุ่งหมายของหลักสูตรแม้ผู้เรียนจะมีความแตกต่างกันในพื้นฐานความสามารถและความสนใจ  แต่ครูมีฝีมือทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลการเรียนรู้ที่พึงปรารถนาได้  ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์เช่นนี้จะต้องเกิดจากฝีมือในการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นเอง
          ประการที่สอง  :  ความคิดเดิม  เชื่อว่าผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน  เข้าทำนองคนเก่งเท่านั้นจึงเรียนดี คนอ่อนเรียนไม่ดี  ความคิดใหม่  ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ ได้เท่ากันถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา  ข้อสำคัญสิ่งที่กำหนดในหลักสูตรแต่ละวิชาล้วนเป็นมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่นักพัฒนาหลักสูตรมุ่งให้บังเกิดกับผู้เรียนทุกคนไม่เคย มีข้อยกเว้นว่า หลักสูตรที่เขียนนั้นเด็กบางคนที่เก่งเรียนได้ เด็กที่ไม่เก่งเรียนไม่ได้
          ประการที่สาม :  ความคิดเดิม  ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน  การฟัง  การฝึก  และการจดจำ  ความคิดใหม่  ผู้เรียนเรียนรู้จากการได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ เช่น ได้จากการสังเกต   รับรู้ข้อมูล  จากกระบวนการคิดกำหนดเป้าหมายความรู้ความสามารถ ที่มีแรงจูงใจอยากได้ อยากรู้ อยากเห็น แล้ววางแผนแสวงหาคำตอบจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ จากการค้นคว้า  จากการทดลองปฏิบัติ  จากการสอบถามผู้รู้  จากการวิเคราะห์สิ่งที่รับรู้  จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อน  รับข้อมูลสะท้อนยืนยันความถูกต้องจากครู  จนสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเอง
          ประการที่สี่  :  ความคิดเดิม  ผลการเรียน คือ ความรู้ที่แสดงออกด้วยการจดจำความจริง       กฎ  เกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหา  ความคิดใหม่  ผลการเรียน คือความสมดุลของความรู้  ความคิด  ความสามารถในการวิเคราะห์สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ความรู้  ความสามารถในการแก้ปัญหา  ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีเครื่องมือวิธีการหาความรู้ปรับเปลี่ยนได้ด้วยตนเองรวมถึงการมีเจตคติ    ค่านิยม  ความเชื่อที่เหมาะสม  
          ประการที่ห้า  :  ความคิดเดิม  ครูมีกระบวนการสอนที่เป็นมาตรฐานตายตัวใช้กับผู้เรียนทุกคน เช่น มีขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ขั้นให้ความคิดรวบยอดหลักการ  ขั้นขยายความรู้  ขั้นฝึกปฏิบัติ   ขั้นสรุป
ความคิดใหม่  ครูรู้จักจุดเด่นจุดอ่อนของผู้เรียนรายบุคคลจากการประเมินก่อนสอน  ครูออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ให้เหมาะกับจุดเด่นจุดอ่อน  ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นหลากหลาย เพราะสิ่งที่เรียนยากนั้นถ้าผ่านทางกระบวนการเรียนรู้จากของจริง ปฏิบัติจริงเป็นขั้นตอนจากง่ายไปหายาก   ผู้เรียนจะเรียนได้สะดวกขึ้น  มีการจัดกลุ่มผู้เรียนที่สอดคล้องกับความสามารถ  ปรับเวลาให้ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนช้า  ผ่านเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ เช่น สื่อการเรียนด้วยตนเองและเทคโนโลยีช่วยเรียนที่หลากหลาย จะสนองผู้เรียนที่แตกต่างกันได้ดี  ไม่เกิดปรากฏการณ์ที่สอนให้เด็กปานกลางเรียนได้  เด็กเก่งแต่เบื่อหน่าย  และเด็กอ่อนเรียนไม่ได้เลย
          ประการที่หก  :  ความคิดเดิม   ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมเรียนรู้ตามลำพัง  ครูอำนวยความสะดวกจัดสื่อจัดแหล่งการเรียนรู้
          ความคิดใหม่  ครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ช (Coach) ให้คำแนะนำใกล้ชิด  ร่วมวางแผนโดยยึดมาตรฐานการเรียนรู้ที่ควรได้รับ  แนะนำให้เด็กเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของตน  ให้เรียนรู้ด้วยวิธีที่เด็กถนัด  คอยติดตามผลการทำกิจกรรม  ให้ความเห็นป้อนกลับ (Feedback) ให้เด็กมั่นใจในผลลัพธ์ที่ถูกต้อง  ให้ปรับปรุงในสิ่งที่ยังด้อย  เสริมความรู้ให้ครบตามมาตรฐาน  ให้คำปรึกษาเมื่อเด็กพบปัญหาอุปสรรค  และกระตุ้นให้กำลังใจในความเพียรพยายามให้กล้าคิดกล้าลองแสวงหาความรู้ที่เขาสนใจ
          ประการที่เจ็ด  :  ความคิดเดิม  การวัดผลประเมินผลมีจุดอ่อนในการยึดเพียงเนื้อหาตามตำรา   มีจุดอ่อนที่ใช้เครื่องมือวัดผลที่จำกัดความคิดของเด็ก เช่น ใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบที่วัดความรู้ความจำผิวเผิน  มีจุดอ่อนที่วัดผลประเมินผลน้อยครั้ง  วัดและประเมินเพียงเพื่อตัดสินผลการเรียนความคิดใหม่ เน้นการติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลตลอดเวลาเพื่อระบุสิ่งที่ยังบกพร่องแล้วช่วยให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลการเรียนรู้ครบถ้วน วัดครอบคลุมความรู้ความสามารถตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่ดี ใช้วิธีการวัดการประเมินหลายอย่างทั้งการประเมินจาก พฤติกรรมการปฏิบัติ  ประเมินจากผลงาน  ประเมินจากการใช้ข้อสอบที่เน้นการเขียนตอบแสดงความคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์อย่างกว้างขวาง  ใช้ผลการวัดการประเมินเพื่อการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามมาตรฐาน
        บทสรุป
          หัวใจสำคัญของความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่นคิดค้น  แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความสำเร็จในการเรียนรู้เต็มศักยภาพ  ครบถ้วนตามมาตรฐาน  โดยใช้พื้นฐานความรักความเมตตาที่ครูมีต่อผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง