หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

กระแสปฏิรูปทางการศึกษา



           ถ้าจะกล่าวถึงคำว่า “ กระแส ” ในอดีต มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของธรรมชาติ เช่น กระแสลม กระแสน้ำ กระแสอากาศ เป็นต้น ในพจนานุกรม ได้อธิบายว่า กระแสคือน้ำหรือลม ที่ไหลหรือพัดเรื่อยเป็นแนวเป็นทางไปไม่ขาดสาย ดังนั้น อะไรก็ตามที่เคลื่อนที่ไปไม่หยุดนิ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นก็มักจะเรียกว่า กระแส ในปัจจุบันสังคมทั่วไปมีความคุ้นเคยกับคำว่ากระแสมนุษย์สร้างขึ้น  ถ้าต้องการให้เรื่องใดได้รับความสนใจก็จะมีการสร้างกระแส ถ้าหากการสร้างกระแสนั้นมุ่งประโยชน์ส่วนรวม หรือมุ่งพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การรวมพลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ แต่ถ้าการสร้างกระแสเพื่อกลบเกลื่อนความจริง หรือมุ่งประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือ ทำลายล้างสิ่งที่มีอยู่ ก็จะนำไปสู่ความสับสนและการเสื่อมถอย กระแสที่มักจะถูกสร้างขึ้นได้แก่ กระแสการเมือง กระแสวัฒนธรรม กระแสต่อต้านโครงการต่างๆ เป็นต้น ในยุคโลกาภิวัฒน์ ก็เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา หรือเรียกสั้นๆ ว่า กระแสปฏิรูปการศึกษา

          กระแสปฏิรูปการศึกษา เกิดจากการผลักดัน จากสถานการณ์ต่าง ๆ และจากแหล่งต่าง ๆ ของสังคม แล้วค่อย ๆ ก่อตัวจนมีพลังถึงขั้นเกิดกระแสปฏิรูปการศึกษาเป็นระยะ ๆ เมื่อมีแรงหนุนจากกระแสอื่น ๆ เช่น กระแสโลกาภิวัฒน์  กระแสปฏิรูปการเมือง ก็จะมีพลังของกระแสมากขึ้น และในช่วงระยะ 2-5 ปี ที่ผ่านมากระแสปฏิรูปการศึกษาได้ไหลหรือเคลื่อนเข้าไปในทุกวงการ  เนื่องจากได้ปลุกกระแสการปฏิรูปการศึกษาควบคู่กับกระแสปฏิรูปการเมืองและทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองนำไปสู่การออกกฎหมาย และรัฐบาลนำมากำหนดเป็นวาระแห่งชาติ นั่นก็หมายความว่า ประชาชนทุกคน จะต้องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยใช้ความรู้เป็นฐาน และนำสู่เป้าหมายสูงสุดของประเทศ คือ การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นคนวงการศึกษาหรือที่สำคัญคือคนกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตระหนักถึงคุณค่าของกระแสปฏิรูปการศึกษา และจะหลีกเลี่ยงไม่รับรู้หรือไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาคงไม่ได้ วัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นตัวถ่วงความเจริญ เป็นคนตกยุคและไม่ให้คนทั่วไปมองว่าคนวงการศึกษาไม่พัฒนา กลายเป็นครูที่รู้ไม่เท่าทันเด็ก เพราะไม่พัฒนาตนเอง บางคนคิดว่าเมื่อยี่สิบปีก่อนไม่มีใครเก่งเกิน ดีเกิน เคยทำหรือสอนอย่างไรปัจจุบันก็ทำอย่างนั้นและยังคิดว่าไม่มีใครเก่งเท่าตนเอง และยังปิดกั้นตัวเองไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลง ใครคิดต่างก็กลายเป็นศัตรูทางความคิด และกีดขวางการคิด ไม่รับฟังความคิดคนอื่น กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาปฏิรูปการศึกษา  
          ในกระแสปฏิรูปการศึกษาปัจจุบันมีหลายประเด็นที่นำไปสู่การสร้างกระแสสนับสนุนและกระแสคัดค้าน เช่น การสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษา บางประเด็นมีเหตุมีผลของการเกิดกระแส เนื่องจากประชาชนทั่วไปเข้าใจและมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่บางประเด็นก็สร้างกระแสเพื่อมุ่งผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และนำไปสู่การชุมนุมคัดค้านหรือสนับสนุนบุคคลที่เกี่ยวข้อง บางครั้งก็เป็นที่น่าเสียดาย(น่าละอาย)ที่คนในวงการศึกษาไม่ได้นำกระบวนการทางปัญญามาค้นหาทางเดินที่สร้างสรรค์  แต่ใช้กระบวนการแบบการเมืองมุ่งทำลายล้างบุคคลหรือองค์กรที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดผลประโยชน์ขององค์กรตนเองและที่น่าเสียดายมากกว่านั้นก็คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้นำมาสร้างกระแส หรือ ปลุกกระแสไม่ขึ้น  เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ  คนวงการศึกษา เข้าใจแต่มองไม่เห็นประโยชน์ที่ตนจะได้รับ และมีความรู้สึกว่าเหนื่อยมากขึ้น มีภาระมากขึ้นจึงไม่สนใจ
          เมื่อเกิดกระแสปฏิรูปการศึกษาที่มีพลังขับเคลื่อนจากทุกส่วนของสังคมน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำการศึกษามาเป็นเครื่องมือหรือเป็นฐานในการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน สิ่งแรกที่ควรต้องทำมากที่สุด คือ ทำให้คนที่จะมาทำหน้าที่ให้การศึกษาหรือพัฒนาคนอื่นที่เรียกว่า นักการศึกษาอาจเป็นครูหรือคนสอนครู ผู้บริหารทั้งระดับสูงและระดับไม่สูง นักวิชาการทั้งอาวุโสและไม่อาวุโส นักวิชาการทั้งฝ่ายด่าและฝ่ายทำ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้น บางคนอาจถึงขั้นล้างสมองใหม่ เพื่อให้มีจิตสำนึกสาธารณะ มีจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพมากขึ้น   เป็นที่พึ่งของเด็กมากกว่าใช้เด็กเป็นที่พึ่ง สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสังคม  ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษา เสมือนเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบ มากกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของระบบ(ปัจจัยนำเข้า)เพียงอย่างเดียว   หมายความว่าจะต้องมีคนทางการศึกษาส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มหัวกะทิ  มาทำหน้าที่ควบคุมและขับเคลื่อนระบบการศึกษา  กลุ่มหัวกะทิที่ว่านี้ต้องเป็นผู้มีกรอบของความรู้ดีมีคุณธรรม (ไม่ใช่คนเก่งแต่โกง หรือซื่อสัตย์แต่ทำอะไรไม่เป็น)  มีลักษณะเป็นนักประสานความคิดและมีบารมีพอที่จะกระตุ้นสังคมให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา  กลุ่มหัวกะทิดังกล่าวอาจมาจากหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นชาวนา พ่อค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้บริหาร สื่อมวลชน  ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์สูงและเข้าใจปัญหาการศึกษาเป็นอย่างดี  ที่สำคัญคือมีประวัติการทำงานที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ ไม่โกงภาษี  คอรัปชั่น หรือสร้างความร่ำรวยจากความเดือดร้อนของผู้อื่น  ถ้าการปฏิรูปการศึกษาได้กลุ่มหัวกะทิที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาช่วยดูแล และประคับประคองกระบวนการปฏิรูปทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เชื่อได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะก้าวสู่ความสำเร็จได้  ซึ่งขณะนี้ก็มีนักการศึกษาและผู้บริหารการศึกษาหลายท่านคิดแนวทางนี้  โดยเสนอให้มีองค์กรในรูปแบบของสภาปฏิรูปการศึกษา ต้องคอยติดตามว่าจะได้กลุ่มคนหัวกะทิแท้มาทำหน้าที่หรือไม่  ขอบันทึกความคิดของผู้เขียนเพื่อจะตีกันคนที่หัวกะทิไม่แท้(ไม่เก่งจริง)ว่า  อย่ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเลย  เปิดโอกาสคนเก่งและเป็นหัวกะทิแท้มาคิดและทำบ้าง  และขอเชิญชวนประชาชนที่มีส่วนได้เสียกับผลของการจัดการศึกษามาสร้างกระแสเพื่อกระตุ้นให้คนที่เก่งและเสียสละเพื่อส่วนรวมมาช่วยปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปและช่วยขัดขวางคนที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์หรือนักวิชาการฝ่ายด่า  พูดไม่สร้างสรรค์ให้หลุดพ้นจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาทุกรูปแบบ
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 25 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น