หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปณิธานการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ





          ความพยายามปฏิรูปการศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และสังคมมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น ต่อมาเมื่อกระแสการปฏิรูปการเมืองมีความเข้มข้นขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2539-2540 ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ขณะนั้นกระแสผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จนสามารถผลักดันสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการกำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม โดยจัดให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  ในระยะต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาอบรมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
          การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นับเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาหลายด้านเพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนไทย  ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาที่สอดรับกันว่าจะปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปปฏิบัติ   กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหนึ่งและเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษา และได้ดำเนินการตามแนวการปฏิรูปการศึกษาในส่วนที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง
2. การปฏิรูปและการปรับเปลี่ยน




    
          การปฏิรูปเป็นคำที่นิยมใช้กันแพร่หลายในทุกวงการ และมีความเข้าใจคล้ายกันว่าเป็นการปรับปรุง  เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น  การปฏิรูปการศึกษาก็เช่นเดียวกันคือ เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น  ดีขึ้น  การทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงขี้น  ต้องมีการปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนทั้งปัจจัย  กระบวนการ หรือวิธีการที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของประชาชน  เช่น การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้  การพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา  การประกันคุณภาพการศึกษา  การระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา  การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  การปฏิรูประบบบริหารการศึกษา เป็นต้น  ซึ่งแต่ละเรื่องที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศีกษาแห่งชาติที่นำไปสู่การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนตามแนวทางที่กำหนด

3. ปณิธานกระทรวงศึกษาธิการ
          ด้วยภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น  ทุกคนมีความมุ่งมั่น  ทุ่มเทและมีความหวังต่อการปฏิรูปการศึกษา  ตามแนวทางที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้  รวมไปถึงความตื่นตัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆที่พยายามพัฒนาตนเอง  และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว  ซึ่งเป็นการรวมพลังที่จะปฏิรูปการศึกษาของคนกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับอย่างแท้จริง  การทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้านอย่างเต็มที่ การกำหนดนโยบาย ทศวรรษแห่งคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา การเร่งรัดการทดลองนำร่องบริหารจัดการระดับเขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัด 10 เขตพื้นที่การศึกษา การวางระบบปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา การเตรียมพร้อมจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนงานและการเตรียมจัดอัตรากำลัง การสร้างนิสัยรักการอ่าน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด แหล่งศิลปะและวัฒนธรรม การจัดตั้งวิทยาชุมชนเพื่อรองรับเยาวชนที่ขาดโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การมุ่งพัฒนาการศึกษาพิเศษและสนับสนุนเอกชนจัดการศึกษา
          สิ่งที่ยืนยันปณิธานและความมุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาประการหนึ่งก็คือ ตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นองค์คณะบุคคลหลักระดับนโยบายและเป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิ นักคิด นักการศึกษา ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และได้ประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดแผนงานหลัก 20 แผนงาน เพื่อการปฏิรูปและแต่ละแผนงานมีคณะอนุกรรมการรับผิดชอบได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานมาโดยตลอด  ในระดับปฏิบัติกระทรวงยังมีคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินงานโดยมีศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษาเป็นศูนย์ข้อมูล และประสานงานกลางกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ทำนโยบายไปสู่การปฏิบัติมีเครือข่ายการปฏิบัติงานที่เป็นคณะบุคคลในระดับกรมและระดับพื้นที่/จังหวัด ตลอดจนสถานศึกษา โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยง ผ่านสื่อเทคโนโลยีและสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะให้นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู องค์กรเอกชน ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้านและทุกระดับ
4. ความก้าวหน้าและพลังขับเคลื่อน
          นับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมากระทรวงศึกษาธิการได้ว่า ระดมสรรพกำลังทุกส่วนเพื่อทุ่มเทกับภารกิจการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน และมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ แม้ว่า ภารกิจบางส่วนโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายนอกหมวด  5 การบริหารและการจัดการศึกษา หมวด 7 ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และหมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา มีองค์กรอื่นรับผิดชอบและยังไม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดเตรียมข้อมูลและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้การดำเนินการบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ได้เตรียมการจัดโครงสร้างการบริหาร การจัดระบบการผลิตครูและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู
          ด้วยพลังของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีประมาณ 543,000 คน และงบประมาณที่รัฐบาลได้ทุ่มเทให้จำนวนปีละ     221,000 ล้านบาทหรือประมาณ 1 ใน 4   ของงบประมาณทั้งหมดรับผิดชอบสถานศึกษาในภาค 37,000 กว่าแห่ง นักเรียนจำนวน  15.3  ล้านคน จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มุ่งจัดทรัพยากรมาใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ความก้าวหน้าของการปฏิรูปการศึกษาแต่ละด้านที่เป็นส่วนรับผิดชอบของกระทรวงที่สำคัญได้แก่
         1) การปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ได้ยึดหลักความสำคัญคือ ผู้เรียนสำคัญที่สุด การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการศึกษาตลอดชีวิต ดำเนินการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ในรูปแบบหลากหลาย เช่นพัฒนาครูและสถานศึกษาแกนนำปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายการปฏิรูปการเรียนรู้ การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดแหล่งเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย การประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544
         2) การประกันคุณภาพการศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และเสนอร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
         3) การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูได้จัดทำแผนปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งด้านการผลิต การพัฒนา การควบคุมการประกอบวิชาชีพและระบบบริหารงานบุคคล และจัดเตรียมบุคลากรตามโครงสร้างกระทรวงใหม่
         4) ปฏิรูประบบงบประมาณ จากระบบงบประมาณแบบแผนงาน ( Planning Programming Budgeting : PPB ) เป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ( Performance Based Budgeting : PBB ) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป
        5) การปฏิรูปสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา มีเป้าหมายให้โรงเรียนมัธยมศึกษามีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกโรงเรียนภายใน  2  ปี และโรงเรียนประถมศึกษา ภายใน  4 ปี จัดการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าสู่สถานศึกษาทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณทล รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีเครือข่ายย่อยในสถานศึกษาระดับจังหวัด และจัดฝึกอบรมครูด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
        6) การปรับปรุงกฎหมายและจัดเตรียมโครงสร้างการบริหารของกระทรวงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มึความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และแนวทางการบริหารงานตามโครงสร้างใหม่ การนำร่องปฏิรูปการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อดำเนิน  4  ภารกิจ ได้แก่ การบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารงานวิชาการ และการบริหารงบประมาณ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงกฎหมายและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อเสนอความเห็นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้พิจารณา

          จะเห็นได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและกำลังดำเนินการทั้งนี้ทุกคนมีส่วนผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดและตามเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ความเห็นที่หลากหลายและแตกต่างได้นำไปสู่ข้อสรุปที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาโดยรวม ยังไม่มีส่วนใดที่บ่งบอกว่า คนกระทรวงศึกษาธิการขัดขวางการปฏิรูปหรือคิดถอยหลังเข้าคลอง ทุกคนน้อมรับข้อเสนอแนะและแนวทางที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญมีความใจกว้างที่จะเปิดรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และคนกระทรวงศึกษาธิการก็หวังเช่นเดียวกันว่า นักวิชาการ นักการศึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่มารวมพลังสร้างสรรค์ปฏิรูปการศึกษายินดีเปิดใจกว้างและเห็นความสำคัญของความคิดของบุคคลระดับปฏิบัติในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ดร.สมศักดิ์   ดลประสิทธิ์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 20 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218
ติดต่อผู้ดูแลระบบ :
website@emisc.moe.go.th






1.  ความจริงพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น